วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
คูเวตเป็นประเทศเล็กๆ ในตะวันออกกลาง มีพื้นที่รวมประมาณ 17,818 ตารางกิโลเมตร (เท่าจังหวัดกาญจนบุรี) อยู่ภายใต้การปกครองโดยเจ้าผู้ครองรัฐ (Amir) จากราชวงศ์ Al-Sabah ซึ่งเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ คูเวตเป็นประเทศมุสลิมสายกลางที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง มีระบบรัฐสภาแบบสภาเดียว ภาวะวิกฤตการณ์ Arab Spring ซึ่งได้ลุกลามในหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือนับตั้งแต่ปี 2554 ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายในของคูเวตมากนัก เนื่องจากคูเวตมีจุดแข็งอย่างเห็นได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คือ (1) เป็นประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองสูง และ (2) คูเวตมีฐานะร่ำรวยและความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง โดยชาวคูเวตซึ่งมีฐานะร่ำรวยอยู่แล้วยังได้รับสวัสดิการสมบูรณ์แบบจากรัฐบาล เช่น การศึกษาฟรี รักษาพยาบาลฟรี น้ำประปาไฟฟ้าฟรี โทรศัพท์พื้นฐานฟรี เป็นต้น
ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก คูเวตเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมากและร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ประชาชนคูเวตมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวและกำลังซื้อสูงมาก กอปรกับการใช้นโยบายการค้าเสรี ไม่มีระบบโควตา หรือมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้า โครงสร้างภาคการผลิตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (สัดส่วนร้อยละ 42 ของ GDP) และแทบจะไม่มีการผลิตภาคการเกษตร (มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.3 ของ GDP) ส่งผลให้คูเวตต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าอาหาร
รัฐบาลคูเวตได้ประกาศจัดทำโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ 5 ปี (ค.ศ. 2010 – 2014) วงเงินลงทุนรวม 37 พันล้านดีนาร์คูเวต (125 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ประกอบด้วยการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมน้ำมันเพื่อเพิ่มผลผลิต การก่อสร้างเมืองธุรกิจใหม่ (Silk City) โครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติคูเวต สร้างชุมชนที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ดังนั้น โอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยในการแสวงหาและขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในคูเวตจึงยังมีอยู่มาก อาทิเช่น 1) ด้านการค้า สินค้าเกษตรของไทยมีโอกาสสูงในการขยายการส่งออกมายังตลาดคูเวต (โดยเฉพาะสินค้าหมวดอาหาร ผักและผลไม้) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพภายใต้โครงการ 1 ทูต 3 ผลิตภัณฑ์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ 2) สาขาการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) คูเวตเป็นตลาดขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูงมาก (Niche Market) สำหรับการขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวคูเวตเดินทางเข้าประเทศไทย 69,223 คน (จากจำนวนประชากรคูเวต 1.2 ล้านคน) และคาดว่า มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในการผลักดันความร่วมมือในด้านนี้ ล่าสุดเพิ่งได้ดำเนินโครงการ Medical Tourism Hospitality Roadshow in Thailand ในเดือนมิถุนายน 2556 โดยนำคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุขคูเวตเยือนไทย 3) ภาคการลงทุน สาขาก่อสร้างเพื่อร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นสาขาการลงทุนที่มีศักยภาพสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจลงทุนโดยตรงในรูปแบบ FDI และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ 5 ปีที่ได้กล่าวมาแล้วด้วย